ประกาศกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
เรื่อง เจตนารมณ์ตามนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี ประจำปี ๒๕๖๔
--------------------------------------
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ปฏิบัติภารกิจเชิงนโยบาย วิชาการและธุรการในการส่งเสริมให้องค์การสวัสดิการสังคมเกิดการตระหนักถึงความสำคัญและเกิดการจัดสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชน โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับ และการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตามหลักธรรมาภิบาลอันเป็นกรอบมาตรฐานสากลในการจัดสวัสดิการสังคม
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กำหนดให้มีการจัดทำนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติราชการที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล เสริมสร้างภาพลักษณ์
การบริหารจัดการที่ดีและความมีศักดิ์ศรีของกองทุนอันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากทุกภาคส่วน
นโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดีให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสม เป็นธรรมและเป็นแนวทางการปฏิบัติงาน โดยจะไม่ละเลยการปฏิบัติตามหลักการที่ปรากฏอยู่ในนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดีฉบับนี้ ซึ่งแสดงถึงพันธสัญญาระหว่างกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและบุคลากรของกองทุน จึงขอให้ทุกคนได้รับทราบนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดีที่แนบมาพร้อมนี้
พร้อมทั้งยอมรับเป็นหลักในการปฏิบัติราชการสืบไป
ประกาศ ณ วันที่ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ)
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาสวัสดิการสังคมและคุณภาพชีวิต
ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
เจตนารมณ์ตามนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี ประจำปี ๒๕๖๔
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
ประกาศกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
เรื่อง นโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี ประจำปี ๒๕๖๔
--------------------------------------
เพื่อให้การบริหารและการปฏิบัติงานของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กรตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและแนวนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
๑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ตราไว้ ณ วันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๐ หมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ กล่าวถึงการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารกิจการบ้านเมืองไว้โดยหลักว่าผู้บริหารต้องเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล ทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าอย่างเป็นขั้นตอนจนเกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ทั้งในทางการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ตามระบอบประชาธิปไตย โดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักความสุจริต หลักสิทธิมนุษยชน และหลักธรรมาภิบาล ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังกำหนดว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
๒. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้วางหลักเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการตามหลักธรรมาภิบาลไว้ว่า การบริหารราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจ และทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงาน และในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน
การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ
๓. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นกฎหมายที่วางมาตรฐานในการบริหารกิจการบ้านเมือง ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยวางหลักไว้ ๗ ประการดังนี้
(๑) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
(๒) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
(๓) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
(๔) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
(๕) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
(๖) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
(๗) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
๔. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ กล่าวถึง ความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกลไกการบริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งเน้นการใช้ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกระดับ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงค่านิยมที่ดีงาม ความมีวินัย มีความรับผิดชอบและยึดหลักการรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ
๕. คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ แสดงถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดินโดยใช้หลักธรรมาภิบาลโดยสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาข้าราชการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติและเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลางพร้อมกับยึดมั่นในหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีสมรรถนะและความรู้ความสามารถพร้อมต่อการปฏิบัติงานดำเนินการปรับปรุงสวัสดิภาพชีวิต ความเป็นอยู่ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจและความผูกพันในการทำงาน
๖. นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. ๒๕๔๖ รวมทั้ง ให้สอดคล้องกับเกณฑ์คุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาระบบราชการตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอันจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ความศรัทธา และความไว้วางใจในการบริหารงานภาครัฐ
๗. นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ ยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพื่อให้บุคลากรทุกระดับของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สามารถนำกรอบนโยบายไปใช้เป็นมาตรฐานในการดำเนินการรวมทั้งเป็นค่านิยมร่วมสำหรับหน่วยงานและบุคลากรทุกคนพึงยึดถือเป็นแนวปฏิบัติควบคู่กับกฎระเบียบ ข้อบังคับอื่น ๆ อย่างทั่วถึง
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กำหนดนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี ประกอบด้วยนโยบาย ๔ ด้านสำคัญ คือ นโยบายด้านรัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม นโยบายด้านผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นโยบายด้านองค์การ และนโยบายด้านผู้ปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้
๑. นโยบายด้านรัฐ สังคม และสิ่งแวดล้อม
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม จัดให้มีการบริหารจัดการองค์กรตามหลักธรรมาภิบาลตอบสนองต่อบทบัญญัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งมาตรฐานการบริการและส่งเสริมให้เกิดการจัดสวัสดิการแก่ประชาชนในสังคมจากทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมอย่างยั่งยืน
แนวทางปฏิบัติ
การส่งเสริมความรู้ด้านระเบียบแนวทางการปฏิบัติในการขอรับการสนับสนุนแก่องค์การสวัสดิการสังคมผ่านช่องทางการสื่อสารของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อให้องค์การสวัสดิการสังคมเข้าถึงและดำเนินการจัดโครงการที่สนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมในระดับพื้นที่และชุมชน ทั้งเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
๒. นโยบายด้านผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของสวัสดิการสังคม เพื่อพัฒนาโครงการให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงทางสังคม รวมถึงเป็นหน่วยงานหลักที่ผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการบูรณาการความร่วมมือในการจัดสวัสดิการสังคม แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน
แนวทางปฏิบัติ
(๑) การสนับสนุนเงินทุนในการจัดทำโครงการขององค์การสวัสดิการสังคมในระบบปกติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(๒) การสนับสนุนการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในระบบกระจายกองทุนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น
(๓) การพัฒนาศักยภาพองค์การสวัสดิการสังคม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเกิดภาคีเครือข่ายในการจัดสวัสดิการสังคม
(๔) การสำรวจความพึงพอใจขององค์การสวัสดิการสังคมต่อการดำเนินงานของกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณปัจจุบันเพื่อนำผลการสำรวจและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนฯ
(๕) การจัดทำช่องทางการสื่อสารระหว่างคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัด/กรุงเทพมหานคร
(๖) การสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และประชาสัมพันธ์กองทุนฯ ที่มีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการในการเข้าถึงกองทุนฯ
๓. นโยบายด้านองค์การ
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม บริหารจัดการองค์กรตามหลักธรรมาภิบาล เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรให้เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติ เพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และโปร่งใสตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ตามภารกิจขององค์กร
แนวทางปฏิบัติ
(๑) การจัดทำแผนพัฒนากองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและแผนปฏิบัติการประจำปีเพื่อกำหนดทิศทางการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนงานกองทุนฯ
(๒) การจัดทำแผนบริหารทรัพยากรบุคคลของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
และแผนปฏิบัติการด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลประจำปี
(๓) การจัดทำแผนบริหารจัดการสารสนเทศและดิจิทัลกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมและแผนปฏิบัติการด้านสารสนเทศและดิจิทัลประจำปี
(๔) การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงและแผนการประเมินผลการควบคุมภายในตามหลักธรรมาภิบาล
(๕) การตรวจสอบการบริหารจัดการเงินตามระเบียบของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม การตรวจสอบผลการใช้จ่ายเงินและผลการปฏิบัติงานขององค์การสวัสดิการสังคมที่ได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ และหลักเกณฑ์การจ่ายเงินที่ระเบียบกำหนด
(๖) การพัฒนาระบบบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลระบบบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๔. นโยบายด้านผู้ปฏิบัติงาน
กองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม บริหารทรัพยากรมนุษย์ตามหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อปฏิบัติภารกิจงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมีคุณภาพ โดยอาศัยกระบวนการในรูปแบบคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการในการขับเคลื่อนงานกองทุนฯ
แนวทางปฏิบัติ
(๑) ทบทวนหน้าที่ความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับปริมาณงานตามความเหมาะสม
(๒) จัดให้มีระบบประเมินผลการปฏิบัติงานรายบุคคลที่สะท้อนถึงศักยภาพของผู้ปฏิบัติงาน
(๓) การพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
(๔) การเสริมพลังให้แก่พนักงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมดีเด่น
(๕) การพัฒนาความรู้ โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ ในการประชุมทางไกลผ่าน Web Conference ด้วยโปรแกรม Zoom Client
ประกาศ ณ วันที่ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ)
รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาสวัสดิการสังคมและคุณภาพชีวิต
ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม
นโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี ประจำปี 2564